ประวัติตำบลฆ้องชัยพัฒนา อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์
ตำบลฆ้องชัยพัฒนา อำเภอฆ้องชัย(เดิมเป็นอำเภอกมลาไสย) จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งขึ้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่14 เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2538 โดยเป็นการแยกพื้นที่ จาก 3 ตำบลเดิม ซึ่งมีตำบลหลักคือ ตำบลกุดฆ้องชัย และตำบลข้างเคียง อีก 2 ตำบล เพื่อรวมตั้งเป็นตำบลใหม่ ชื่อ " ตำบลฆ้องชัยพัฒนา" ได้แก่
1. ตำบลกุดฆ้องชัย มี 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านดอนแคน หมู่ที่ 2 บ้านเหล่าใหญ่ หมู่ที่ 6 บ้านโนนเขวา หมู่ที่ 4 และ หมู่ที่ 5 บ้านชาด หมู่ที่ 11 และบ้านน้อยสามเชียง หมู่ที่ 9
2. ตำบลลำชี มี 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านท่าแห่ หมู่ที่ 1และหมู่ที่ 10 บ้านกุดฆ้องชัย หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 8
3. ตำบลหนองแปน (อำเภอกมลาไสย) มี 1 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเหล่าแดง หมู่ที่ 7
แล้วรวมกันเป็นตำบลใหม่เรียกชื่อว่า “ตำบลฆ้องชัยพัฒนา” มีนายบุญเคน เวียงปฏิ เป็นกำนันคนแรก มีรูปแบบการปกครองเป็นสภาตำบลฆ้องชัยพัฒนา
ในการปกครองตามรูปแบบการปกครองท้องถิ่น ใช้รูปแบบสภาตำบล และได้รับการยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 เมื่อวันที่ 14 เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2542 มีที่ทำการสภาตำบล ตั้งอยู่ ณ.บริเวณวัดเก่า ที่ บ้านโนนเขวา หมู่ที่ 4 ตำบลฆ้องชัยพัฒนา กิ่งอำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ปีจอ ในสมัยนายสากล ศรเสนา เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลฆ้องชัยพัฒนา ได้ย้ายที่ทำการมา ณ. ที่แห่งใหม่ บริเวณริมบึงขยอง เลขที่ 25 หมู่ที่ 9 บ้านน้อยสามเชียง ตำบลฆ้องชัยพัฒนา กิ่งอำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ บริเวณริมบึงขยอง ซึ่งเป็นที่ตั้งในที่ปัจจุบัน ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ 36 กิโลเมตร ห่างจากที่ว่าการอำเภอฆ้องชัย 3 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 29.61 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 16,631.88 ไร่ มีจำนวนหมู่บ้าน 11 หมู่บ้าน
ได้รับการยกฐานะเป็น "เทศบาลตำบลฆ้องชัยพัฒนา" ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551
ตราสัญลักษณ์เทศบาลตำบลฆ้องชัยพัฒนา
รูปวงกลม ตอนกลางมีรูปหนองน้ำ และฆ้องชัย อยู่ด้านหลัง สื่อความหมายดังนี้
รูปฆ้อง สื่อความหมายถึง ฆ้องชัยใช้สำหรับตีฆ้อง(ลั่นฆ้อง)เพื่อให้มีชัยชนะหรือเป็นสัญลักษณ์ของการมีชัยชนะ
หนองน้ำ หมายถึงบึงขยอง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ
รูปดอกบัว สื่อความหมายถึง ความมั่นคงในจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและการยึดมั่นในพระพุทธศาสนา